หลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาองค์การและสังคมอย่างยั่งยืน

(Government Innovation for Sustainable Development)

รุ่นที่ 1 / 2568

(เน้นบริบทการพัฒนาบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)

——————————————————-

1. หลักการและเหตุผล

          ภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงที่มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการภาครัฐ ทั้งจากมิติทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง กฎ ระเบียบ ค่านิยม วัฒนธรรม หรือการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะแวดล้อม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาพลิกผันวิถีชีวิตและการทำงานของผู้คนด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนโฉมหน้าของระบบการบริหารจัดการขององค์การและสังคมทุกภาคส่วน ทำให้ประเด็นเรื่องการสร้าง “นวัตกรรมภาครัฐ” กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญ โดดเด่นขึ้นในการพัฒนากระบวนทัศน์ใหม่ของการบริหารจัดการภาครัฐ การพัฒนาทักษะของบุคลากรภาครัฐ ให้สามารถสร้างสรรค์องค์การและสังคมให้เติบโต้ก้าวหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน ด้วยขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายและบริการของภาครัฐ ผ่านการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ กระบวนการทางการใช้ความคิดสร้างสรรค์ สู่การพัฒนานวัตกรรมภาครัฐ ในการทำงานของบุคลากรภาครัฐทุกระดับ

สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร.  (IGP) ซึ่งเป็นหน่วยบริการพิเศษภายใต้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ตระหนักถึงความสำคัญของบุคลากรภาครัฐในทุกระดับ ที่ไม่เพียงแต่จะต้องมีความตระหนักรู้ถึงบริบทการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อนโยบาย หลักเกณฑ์ กลไกในการบริหารจัดการภาครัฐ ในบริบทต่าง ๆ  แต่หากจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะในการสร้างนวัตกรรมภาครัฐ ทั้งเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพ   การทำงาน เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้าง ปรับปรุง และพัฒนาบริการของภาครัฐ ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาองค์การ ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และเกิดประโยชน์สุข ที่ตอบสนองความต้องการอย่างแท้จริงของประชาชนผู้รับบริการอย่างยั่งยืนและมีคุณค่า จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ ภายใต้ “หลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาองค์การและสังคมอย่างยั่งยืน ขึ้น โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถ และบทบาทสำคัญของผู้เข้าร่วมหลักสูตร ให้เป็นบุคลากรภาครัฐรุ่นใหม่ จากผู้ให้บริการ ไปสู่การเป็น “นวัตกร” ที่สามารถปรับปรุง สร้างสรรค์ผลงานการบริการภาครัฐในความรับผิดชอบของตนเอง ให้เป็น “นวัตกรรม” เพื่อการบริการและการพัฒนาได้อย่างมีประโยชน์คุณค่าต่อทั้งตนเอง องค์การที่สังกัด และสังคมประเทศชาติ ต่อเนื่องไปอย่างยั่งยืน

2. วัตถุประสงค์ของการพัฒนา

1) เพื่อยกระดับความสามารถของบุคลากรภาครัฐ สู่การเป็น “นวัตกร (Innovator)” ที่สามารถสร้างสรรค์ ปรับปรุง พัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ และบริการใหม่ ๆ ของภาครัฐที่ตอบสนองความต้องการ ความคาดหวังของประชาชนผู้รับบริการ ตามบริบทผลกระทบ ในการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ฯลฯ

2) เพื่อสร้างบทบาทของบุคลากรภาครัฐ ให้เป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent)” ภายใต้กระบวนการทัศน์ใหม่ของการบริหารจัดการภาครัฐ ที่สร้างความร่วมมือ บูรณาการ สร้างการมีส่วนร่วม ในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายและนวัตกรรมภาครัฐ จากทุกภาคส่วน สู่การปฏิบัติ ให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม  ตามหลักแนวคิดเชิงออกแบบ

3. ขอบเขตการเรียนรู้และพัฒนา

1) การเปิดมุมมอง โลกทัศน์ สร้างการตระหนักรู้ เกี่ยวกับบริบทการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการภาครัฐ การวิเคราะห์แนวโน้มของสถานการณ์ นัยของความท้าทาย และความจำเป็นในการพัฒนานวัตกรรม และการบริหารจัดการภาครัฐ อย่างยั่งยืน

2) การเสริมสร้างทักษะการคิดเชิงนวัตกรรม เชิงสร้างสรรค์ และการคิดเชิงบูรณาการ

3) การเรียนรู้กรณีศึกษาด้านการพัฒนานวัตกรรมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งใน และต่างประเทศ

4) การเสริมสร้างขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรม การวางแผนการขับเคลื่อนนวัตกรรมภาครัฐ สู่การพัฒนาองค์การและสังคมอย่างยั่งยืน

5) การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงเชิงนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าต่อนโยบายและการจัดการองค์การและการเข้าสู่ประเทศไทย 4.0

6)  การเสริมสร้างเครือข่ายนวัตกรภาครัฐ

4. รูปแบบและระยะเวลา

หลักสูตรกำหนดระยะเวลาการเรียนรู้ จำนวนรวมทั้งสิ้น 156 ชั่วโมง (ศึกษาอบรมระหว่างเดือนสิงหาคม ถึงเดือนกันยายน 2567) ในรูปแบบของการจัดกิจกรรมในสถานที่ และการเรียนรู้ผ่านระบบการประชุมเล็กทรอนิกส์ มีแนวทางการเรียนรู้ แบ่งเป็น

4.1 การเรียนรู้ในรูปแบบการบรรยาย อภิปรายของวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ (50 ชั่วโมง)

4.2 การเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ ในรูปแบบกระบวนการกลุ่ม การฝึกปฏิบัติ ภายใต้การสอนแนะ จากวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ การอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมอง ความคิดเห็น การนำเสนอผลงานนวัตกรรม และการเสริมสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการพัฒนานวัตกรรม (76 ชั่วโมง)

4.3 การเรียนรู้ภาคการศึกษาดูงาน ใน / และหรือ ต่างประเทศ 30 (ชั่วโมง)

กรณีจัดกิจกรรมในรูปแบบการประชุมพบปะ (การปฐมนิเทศ / ปัจฉิมนิเทศ การฝึกปฏิบัติ ที่จำเป็นต้องพบปะปฏิสัมพันธ์กันในสถานที่ การนำเสนอผลงานนวัตกรรม กิจกรรมเครือข่ายสัมพันธ์ ฯลฯ) จะจัดขึ้น ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร และ Online ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โปรแกรม Zoom Meeting (กรณีจัดกิจกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (การบรรยาย อภิปราย แลกเปลี่ยนความเห็น ฯลฯ))

 

*** รุ่นที่ 1/2568 ศึกษาอบรมในเดือนพฤศจิกายน, เดือนธันวาคม, 2567 และเดือนมกราคม 2568 ดังนี้  

เดือนพฤศจิกายน วันที่ 19, 20 (แบบไป-กลับ) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่นกรุงเทพมหานคร

วันที่ 26, 28, (Online ผ่าน Zoom)

เดือนธันวาคม วันที่ 3, 12, (Online ผ่าน Zoom )

(17 – 25 ธันวาคม ศึกษาดูงาน ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส)

มีการนำเสนอผลงานการสร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรม รับฟังความคิดเห็นจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ

และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลังจากกิจกรรมศึกษาดูงานภาควิชาการในต่างประเทศเสร็จสิ้นแล้ว

เดือนมกราคม 2568 วันที่ 7, 8, (Online ผ่าน Zoom )

5. โครงสร้างเนื้อหาหลักสูตร

ประกอบด้วย 6 กลุ่มหัวข้อวิชา ดังนี้

1) ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความหมาย ความสำคัญของนวัตกรรมภาครัฐ (36 ชั่วโมง)

2) หลักแนวคิด แนวทาง กระบวนการ การพัฒนานวัตกรรม (18 ชั่วโมง)

3) การเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ เพื่อการพัฒนาทักษะและนวัตกรรม (36 ชั่วโมง)

4) การศึกษาดูงาน และการสรุปบทเรียนการศึกษาดูงาน (36 ชั่วโมง)

5) การวางแผนการขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่การปฏิบัติ (18 ชั่วโมง)

6) การสรุปผลการเรียนรู้ และพัฒนาเครือข่ายบูรณาการการขับเคลื่อน (12 ชั่วโมง)

       โดยมีรายละเอียดของหัวข้อวิชา ดังต่อไปนี้

กลุ่มหัวข้อวิชาที่ 1 :

ความรู้พื้นฐาน เกี่ยวกับ ความหมาย ความสำคัญ
ของ
“นวัตกรรมภาครัฐ” (Innovation 101)

(36 ชั่วโมง)

วัตถุประสงค์

เพื่อให้ผู้เข้าร่วมหลักสูตร ได้ตระหนักรู้ถึง ความหมาย ความสำคัญ และความจำเป็นของการพัฒนานวัตกรรม เพื่อรองรับบริบทการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการภาครัฐ และเพื่อตอบสนองความต้องการ ความคาดหวังของ ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แนวทางการจัดการการเรียนรู้

  • การบรรยาย การอภิปราย ของวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ (22 ชั่วโมง)
  • การสอนแนะจากวิทยากร ที่ปรึกษา กิจกรรมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดเห็น การเรียนรู้แบบกระบวนการกลุ่ม กับกิจกรรมเสริมสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ ความร่วมมือ ระหว่างผู้เข้าร่วมหลักสูตร (14 ชั่วโมง)

หัวข้อวิชาที่ 1.1  ความหมาย ความสำคัญ และความจำเป็น ของการพัฒนานวัตกรรม และการสร้างเครือข่ายการพัฒนานวัตกรรม (12 ชั่วโมง)

  • การปฐมนิเทศ การชี้แจงภาพรวมหลักสูตร (3 ชั่วโมง)
  • บริบทการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการภาครัฐ (3 ชั่วโมง)
  • ความหมาย ความสำคัญ และความจำเป็น ในการพัฒนา “นวัตกรรมภาครัฐ” (3 ชั่วโมง)
  • แนวทางการพัฒนาเครือข่ายการสร้างนวัตกรรมภาครัฐ (3 ชั่วโมง)

หัวข้อวิชาที่ 1.2   รูปแบบของนวัตกรรมภาครัฐ (6 ชั่วโมง)

  • พัฒนาการของนวัตกรรม และศาสตร์ในการบริหารและการพัฒนานวัตกรรม (3 ชั่วโมง)
  • รูปแบบต่าง ๆ ของนวัตกรรม (3 ชั่วโมง)
    • นวัตกรรมการบริการ (Services Innovation)
    • นวัตกรรมด้านการให้บริการ (Service Delivery Innovation)
    • นวัตกรรมด้านโครงสร้างการบริหารจัดการภาครัฐ (Administrative / Organizational Innovation)
    • นวัตกรรมเชิงมุมมอง หลักการ แนวคิด (Conceptual Innovation)
    • นวัตกรรมทางนโยบายภาครัฐ (Policy Innovation)
    • นวัตกรรมเชิงระบบ ขั้นตอน กระบวนการ การภาครัฐ (Systemic Innovation)

หัวข้อวิชาที่ 1.3 กรณีศึกษา เกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมภาครัฐ ในบริบทต่าง ๆ (9 ชั่วโมง)

  • ประเทศไทยยุคดิจิทัล กับการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประเทศ (3 ชั่วโมง)
  • การสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ (3 ชั่วโมง)
  • การสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบายทางสังคม (3 ชั่วโมง)

หัวข้อวิชาที่ 1.4  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการพัฒนาองค์การและสังคมอย่างยั่งยืน (9 ชั่วโมง)

  • การเสริมสร้างธรรมาภิบาลยุคใหม่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (3 ชั่วโมง)
  • แนวทางการพัฒนานวัตกรรมการบริการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สู่ความเป็นเลิศ (3 ชั่วโมง)
  • นวัตกรรมการบริการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในยุคดิจิทัล (3 ชั่วโมง)

กลุ่มหัวข้อวิชาที่ 2 :

หลักแนวคิด แนวทาง กระบวนการการพัฒนานวัตกรรม

(18 ชั่วโมง)

วัตถุประสงค์

เพื่อให้ผู้เข้าร่วมหลักสูตร ได้พัฒนากระบวนการทางความคิด และทักษะในการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ ที่มุ่งเน้นเรื่องการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาองค์การและสังคมอย่างยั่งยืน

แนวทางการจัดการการเรียนรู้

  • การบรรยาย การอภิปราย ของวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ (12 ชั่วโมง)
  • การสอนแนะจากวิทยากร ที่ปรึกษา การประชุมเชิงปฏิบัติการ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดเห็น การเรียนรู้แบบกระบวนการกลุ่ม การฝึกปฏิบัติ (6 ชั่วโมง)

หัวข้อวิชาที่ 2.1 การประเมินสถานการณ์ การวิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความท้าทาย ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาองค์การและสั่งคมอย่างยั่งยืน (3 ชั่วโมง)

หัวข้อวิชาที่ 2.2 วิสัยทัศน์ขององค์การ ในการสร้างนวัตกรรมภาครัฐ (3 ชั่วโมง)

หัวข้อวิชาที่ 2.3 การสร้างสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ให้เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม (3 ชั่วโมง)

หัวข้อวิชาที่ 2.4 ทักษะสำคัญของนวัตกรภาครัฐ (9 ชั่วโมง)

  • กระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking)
  • กระบวนการคิดเชิงระบบ (System Thinking)
  • กระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)
  • ทักษะการสื่อสาร ประสานงาน (Communication & Collaboration Skills)
  • เครื่องมือเพื่อการออกแบบนวัตกรรม (Innovation Design Tools)

การบริหารการพัฒนานวัตกรรม ด้วยกระบวนการห้องปฏิบัติการเชิงนโยบายภาครัฐ ตามหลักแนวคิดเชิงออกแบบ (Government Innovation Lab)

กลุ่มหัวข้อวิชาที่ 3 :

การเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาทักษะและนวัตกรรม

 (36 ชั่วโมง)

วัตถุประสงค์

เพื่อให้ผู้เข้าร่วมหลักสูตร ได้ฝึกฝนทักษะการคิดออกแบบนวัตกรรม ภายใต้กระบวนการห้องปฏิบัติการเชิงนวัตกรรมทางนโยบายภาครัฐ

แนวทางการจัดการการเรียนรู้

  • การบรรยาย การอภิปราย ของวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ (16 ชั่วโมง)
  • การสอนแนะจากวิทยากร ที่ปรึกษา การประชุมเชิงปฏิบัติการ การเรียนรู้แบบกระบวนการกลุ่ม การสรุปบทเรียน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดเห็น (~ 20 ชั่วโมง)

หัวข้อวิชาที่ 3.1

การระบุกลุ่มเป้าหมาย (Stakeholders Identification) และเรียนรู้หลักแนวคิดเชิงออกแบบ ในขั้นตอนแรกของการลงไปทำความเข้าใจ เพื่อเข้าถึงแก่นแท้ของสภาพปัญหาและความต้องการนวัตกรรม (Empathize) (6 ชั่วโมง)

หัวข้อวิชาที่ 3.2

การเรียนรู้เพื่อการพัฒนานวัตกรรม ในขั้นตอนของการระบุวัตถุประสงค์และขอบเขตที่ชัดเจนของการพัฒนา (Define) (6 ชั่วโมง)

หัวข้อวิชาที่ 3.3

กิจกรรมการหานวัตกรรมทางเลือกต่าง ๆ และพิจารณาคัดเลือกนวัตกรรมที่น่าจะตอบโจทย์วัตถุประสงค์ได้ชัดเจนที่สุด (Ideate) (6 ชั่วโมง)

หัวข้อวิชาที่ 3.4

การสร้างตัวแบบนวัตกรรม (Prototype) (6 ชั่วโมง)

หัวข้อวิชาที่ 3.5

กิจกรรมการลงพื้นที่ ทดสอบ ทดลอง ตัวแบบนวัตกรรม (Test) (6 ชั่วโมง)

หัวข้อวิชาที่ 3.6

สรุปการเรียนรู้ (6 ชั่วโมง)

กลุ่มหัวข้อวิชาที่ 4 :

การศึกษาดูงานด้านนวัตกรรม
เพื่อการพัฒนาองค์การและสังคมอย่างยั่งยืน

(36 ชั่วโมง)

วัตถุประสงค์

เพื่อให้ผู้เข้าร่วมหลักสูตร ได้เปิดมุมมอง ประสบการณ์ และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน เรียนรู้ จากบุคลากรและหน่วยงานที่มีบทเรียนประสบการณ์ตรง ในความสำเร็จและความล้มเหลวของ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาองค์การและสังคมอย่างยั่งยืน จากใน และ/หรือ ต่างประเทศ

แนวทางการจัดการการเรียนรู้

  • การศึกษาดูงาน (30 ชั่วโมง)
  • การสรุปบทเรียน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมอง ความคิดเห็น ระหว่างผู้เข้าร่วมหลักสูตร (6 ชั่วโมง)

หัวข้อวิชาที่ 4.1         กิจกรรมการศึกษาดูงานใน / ต่างประเทศ (30 ชั่วโมง)

หัวข้อวิชาที่ 4.2         กิจกรรมสรุปการเรียนรู้ บทเรียนการไปศึกษาดูงาน (6 ชั่วโมง)

กลุ่มหัวข้อวิชาที่ 5 :

การวางแผนการขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่การปฏิบัติ

(18 ชั่วโมง)

วัตถุประสงค์

เพื่อให้ผู้เข้าร่วมหลักสูตร ได้วางแผนการขับเคลื่อนนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาองค์การและสังคมอย่างยั่งยืน

แนวทางการจัดการการเรียนรู้

การประชุมปรึกษาหารือ การระดมความเห็น กระบวนการกลุ่ม ภายใต้คำปรึกษาแนะนำ  ของวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ

หัวข้อวิชาที่ 5.1           การสรุปผลงานการสร้างนวัตกรรม (6 ชั่วโมง)

หัวข้อวิชาที่ 5.2           การพัฒนาแผนการขับเคลื่อนขยายผลนวัตกรรม (6 ชั่วโมง)

หัวข้อวิชาที่ 5.3           การเตรียมการนำเสนอผลงานนวัตกรรม (6 ชั่วโมง)

กลุ่มหัวข้อวิชาที่ 6 :

การสรุปผลการเรียนรู้ และการพัฒนาเครือข่ายบูรณาการ
การขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมภาครัฐ

(12 ชั่วโมง)

วัตถุประสงค์

เพื่อให้ผู้เข้าร่วมหลักสูตร ได้นำเสนอผลงานการสร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรม รับฟังความคิดเห็นจากวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ของการปรับปรุงพัฒนา ต่อยอด ขยายผล และสร้างความร่วมมือ การสนับสนุน ในการขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรม

แนวทางการจัดการการเรียนรู้

การนำเสนอผลงาน การอภิปรายแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ

หัวข้อวิชาที่ 6.1           การนำเสนอผลงานการสร้างสรรค์ พัฒนานวัตกรรม กับการอภิปราย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ เพื่อปรับปรุง แก้ไข ต่อยอด การพัฒนานวัตกรรม (9 ชั่วโมง)

หัวข้อวิชาที่ 6.2           แนวทางการพัฒนาเครือข่ายนวัตกร เพื่อการขยายผลนวัตกรรม (3 ชั่วโมง)

6. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจบหลักสูตร

สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร. จะพิจารณามอบประกาศนียบัตรผู้ผ่านการหลักสูตร ที่ผ่านเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้

1) ผู้เข้าร่วมหลักสูตร เข้าร่วมกิจกรรมหลักสูตร ในภาพรวม ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75

2) ผู้เข้าร่วมหลักสูตร ส่งผลงานนวัตกรรม ภายในระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนด

3) ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เข้าร่วมกิจกรรมปฐมนิเทศ กิจกรรมการนำเสนอผลงานนวัตกรรม สรุปการเรียนรู้ การพัฒนาเครือข่าย ตามเงื่อนไขที่สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร. กำหนด

7. จำนวนผู้เข้าร่วมหลักสูตร

จำนวน 50 คน

8. คุณสมบัติผู้เข้าร่วมหลักสูตร

(สำหรับรุ่นที่ 1/2568)

1) เป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายก/รองนายก/ที่ปรึกษา/เลขานุการนายกฯ ประธานสภาฯ สมาชิกสภาฯ

2) เป็นข้าราชการ พนักงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ

3) เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือองค์การมหาชน ที่ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่ง ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ขึ้นไป

4)  เป็นข้าราชการประเภทอื่น ที่สนใจ และมีภารกิจของหน่วยงานที่สามารถมีส่วนร่วมและสนับสนุนกระบวนการพัฒนานวัตกรรมภาครัฐ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาองค์การและสังคมอย่างยั่งยืน โดยสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณาแล้ว เห็นเหมาะสม

หมายเหตุ

  • เป็นหลักสูตรฝึกอบรมที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถใช้จ่ายเงินเพื่อการฝึกอบรมหรือดูงานในต่างประเทศ ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นได้ (ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การฝึกอบรมซึ่งจัดโดยหน่วยงานของรัฐที่กำหนดให้มี การฝึกอบรมหรือดูงานในต่างประเทศของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเบิกจ่ายเงินได้ พ.ศ. 2562)
  • ผู้เข้าร่วมหลักสูตรฯ เป็นผู้มีสิทธิ์เบิกค่าใช้จ่ายจากหน่วยงานต้นสังกัดได้ ตามระเบียบของทางราชการ
  • การพิจารณาคัดเลือกผู้เข้าร่วมหลักสูตรของสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร. ถือเป็นที่สิ้นสุด

9. เอกสารประกอบการสมัคร

ให้ผู้สนใจเข้าร่วมหลักสูตร กรอกรายละเอียดในใบสมัคร โดยดาวน์โหลดทาง www.igpthai.org พร้อมแนบสำเนาบัตรข้าราชการ และรูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว หน้าตรง (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน) ส่งช่องทางใดก็ได้ ดังนี้

(1)  e-mail : innovation.igpthai@gmail.com

(2)  ไปรษณีย์ จ่าหน้าซองถึง หรือ

(3) ยื่นเอกสารสมัครด้วยตนเอง ที่

โครงการหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาองค์การและสังคมอย่างยั่งยืน

สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร.

ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา

เลขที่ 120 อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 9 ถนนแจ้งวัฒนะ

แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210

หมายเลขโทรศัพท์  02-141-9021 หรือ 08 4241 5996

10. กำหนดการรับสมัคร และการประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมหลักสูตร

          10.1 ระยะเวลารับสมัคร เปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม – 8 พฤศจิกายน 2567

(หรือมีจำนวนผู้สมัครครบ 50 คน/รุ่น)

          10.2 ประกาศรายชื่อผู้เข้ารับการอบรม  ผ่านทาง www.igpthai.org ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567

11. กำหนดการรายงานตัว และการชำระค่าธรรมเนียม

ผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมหลักสูตร ต้องมารายงานตัวภายในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 และเข้ารับการศึกษาอบรม วันที่ 19 – 20 พฤศจิกายน 2567 (แบบไป-กลับ) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยสามารถชำระค่าธรรมเนียมได้ทันทีพร้อมการสมัคร หรือชำระค่าธรรมเนียมได้ตั้งแต่วันที่ประกาศรายชื่อผู้เข้ารับการอบรม (ซึ่งการชำระค่าธรรมเนียมจะต้อง ไม่เกินวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567) ตามเงื่อนไขที่สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร. ประกาศกำหนด

12. ค่าธรรมเนียมหลักสูตรฯ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ

ค่าธรรมเนียมตลอดหลักสูตรฯ 195,000.- บาท (หนึ่งแสนเก้าหมื่นห้าพันบาทถ้วน) โดยชำระผ่านธนาคารกรุงไทย  ณ  ที่ทำการธนาคาร หรือ ตู้ ATM  หรือ Mobile Banking

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ (อาคาร บี)

ชื่อบัญชี : สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

เลขที่บัญชี : 955-0-09554-1

(โปรดส่งหลักฐานการโอนเงินมาที่อีเมล์ innovation.igpthai@gmail.com พร้อมรายละเอียดในการออกใบเสร็จ)

(12.1)  เป็นค่าธรรมเนียม รวมค่าเอกสาร กระเป๋า ค่าอาหารว่าง (เช้า-บ่าย) อาหารกลางวัน ระหว่างวันที่ 19 – 20 พฤศจิกายน 2567 ทั้งนี้ ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการเดินทางมายังสถานที่อบรม (ไม่รวมที่พักในประเทศ ไม่รวมอาหารเย็น) และรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ ในระหว่างการศึกษาอบรมภาควิชาการในต่างประเทศที่หลักสูตรเป็นผู้กำหนด (เดินทางโดยสารการบินไทย ชั้นประหยัดและการพักโรงแรมในต่างประเทศจะเป็นห้องพักคู่ 2 ท่าน/ห้อง/คืน) (สามารถชำระค่าธรรมเนียม ได้ตั้งแต่วันที่เปิดรับสมัคร จนถึงภายในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567)

(12.2)  อัตราดังกล่าวได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย

(12.3)  ข้าราชการ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น มีสิทธิ์เบิกค่าใช้จ่าย จากหน่วยงานต้นสังกัดได้ตามระเบียบของทางราชการ

13. สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ได้ที่

โครงการหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาองค์การและสังคมอย่างยั่งยืน

สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร.

ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา

เลขที่ 120 อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 9 ถนนแจ้งวัฒนะ

แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210

หมายเลขโทรศัพท์  02-141-9021 หรือ 08 4241 5996

(คุณปาริชาติ คมขำ, คุณศศิวิมล คงขุนทด, คุณกัญญาณัฐ มีพา)

ดาวน์โหลดใบสมัคร และส่งใบสมัครพร้อมเอกสารการชำระเงิน มาที่  E-mail : innovation.igpthai@gmail.com

หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คุณปาริชาติ คมขำ
คุณศศิวิมล  คงขุนทด โทร 02-141-9021 หรือ 08 4241 5996

รายละเอียดหลักสูตร pdf
ใบสมัคร docx | pdf
ประกาศกระทรวงมหาดไทย pdf

  • ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการศึกษา (ดาวน์โหลด)