โครงการศึกษาอบรมหลักสูตร

หลักสูตรการพัฒนานวัตกรรมการบริการในยุคดิจิทัลสู่เมืองยั่งยืน

รุ่นที่ 1/2567

………………………………………………………………….

.

รายละเอียดโครงการศึกษาอบรม
หลักสูตรการพัฒนานวัตกรรมการบริการในยุคดิจิทัลสู่เมืองยั่งยืน

รุ่นที่ 1/2567

  1. หลักการและเหตุผล

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 76 ระบุว่ารัฐพึงพัฒนาระบบ การบริหารราชการแผ่นดินทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และงานของรัฐอย่างอื่น ให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยหน่วยงานของรัฐต้องร่วมมือและช่วยเหลือกันในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทำบริการสาธารณะและการใช้จ่ายเงินงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน รวมทั้งพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีทัศนคติ   เป็นผู้ให้บริการประชาชนให้เกิดความสะดวก รวดเร็วไม่เลือกปฏิบัติ และปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ยุทธศาสตร์ที่ 6 การปรับสมดุลและการพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ มีประเด็นยุทธศาสตร์ที่เน้นการปรับเปลี่ยนภาครัฐยึดหลัก “ภาครัฐของประชาชน เพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม” โดยภาครัฐต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับบทบาท ภารกิจ แยกแยะบทบาทหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ในการกำกับหรือให้บริการ ยึดหลักธรรมาภิบาล ปรับวัฒนธรรมการทำงาน ให้มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม มีความทันสมัย และพร้อมที่จะปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาและนำนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล ระบบการทำงาน ที่มุ่งเน้นผู้รับบริการเป็นศูนย์กลางเข้ามาประยุกต์ใช้อย่างคุ้มค่า เกิดคุณค่ากับผู้รับบริการ ตลอดจนสามารถปฏิบัติงานเทียบได้กับมาตรฐานสากล โดยมีลักษณะเปิดกว้าง เชื่อมโยงถึงกันและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน  เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน และผู้รับบริการอื่นๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส โดยทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมกันปลูกฝังค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริต ความมัธยัสถ์ อและสร้างจิตสำนึกในการปฏิเสธไม่ยอมรับการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกได้มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของการพัฒนา โดยองค์กรสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal – SDG) ให้ประเทศสมาชิกร่วมปฏิบัติ โดยรัฐบาลไทยได้กำหนดให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นนโยบาย ที่ต้องยึดถือปฏิบัติในทุกภาคส่วน ดังที่ปรากฏให้เห็นในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในหลายยุทธศาสตร์ อาทิ ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการมุ่งเน้นนโยบายสำคัญอื่นๆ อีก เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ดังนั้น การขับเคลื่อนท้องถิ่นในยุคถัดไปจำเป็นต้องมีการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นข้อคำถึงถึงด้วย โดยการพัฒนาดังกล่าวสามารถบรรลุผลอย่างยั่งยืนและสร้างความสุขกับประชาชนได้ต้องมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม สร้างประสิทธิภาพบริการ รวมทั้งการลดของเสีย (Waste) ที่อาจเกิดจากกระบวนการที่ไม่จำเป็น

การปกครองส่วนท้องถิ่นนับเป็นรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย สนับสนุนวัตถุประสงค์ทางการปกครองของรัฐบาลในอันที่จะรักษาความมั่นคงและความผาสุกของประชาชน ยึดหลักการกระจายอำนาจปกครอง โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง การปกครองท้องถิ่นสามารถสนองตอบความต้องการของท้องถิ่นได้ตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ บุคลากรส่วนท้องถิ่นจึงเป็น   ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น ระบบการบริหารจัดการ และพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างสรรค์การบริการ ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและผู้รับบริการอื่นในท้องถิ่นในยุคดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนสู่ อปท. ที่เปิดกว้าง ยืดหยุ่น ปรับตัวได้เร็ว และก่อให้เกิดประโยชน์สุขของประชาชน และผู้รับบริการในเมือง ได้อย่างยั่งยืน

สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ ภายใต้สังกัดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จึงได้จัดให้มี “หลักสูตรการพัฒนานวัตกรรมการบริการในยุคดิจิทัลสู่เมืองยั่งยืน”  ขึ้นเพื่อมุ่งเน้นและส่งเสริมให้ข้าราชการองค์กรปกครอง ท้องถิ่น ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป ได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อนำมาปรับปรุงงานบริการขององค์กร ให้มีความทันสมัย สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่พลิกผันในยุคดิจิทัล อันจะเป็นการนำพาท้องถิ่นไทยให้บริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพสู่มาตรฐานสากล

  1. วัตถุประสงค์

2.1 เพื่อเสริมสร้างมุมมอง สถานการณ์ วิเคราะห์ความท้าทายและความจำเป็นในการพัฒนานวัตกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560ยุทธศาสตร์ชาติและการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล

2.2 เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เข้ารับการศึกษาอบรมให้มีความรู้ความเข้าใจ และพัฒนานวัตกรรมในการปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น  ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเกิดประโยชน์สุขของประชาชนรวมทั้งผู้รับบริการอื่นอย่างยั่งยืน

2.3  เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการ การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน เพื่อสร้างนวัตกรรมการบริการขององค์กรให้มีความเป็นเลิศ

  1. ระยะเวลาและสถานที่ในการศึกษาอบรม

3.1 ระยะเวลาในการศึกษาอบรมในหลักสูตร รวมทั้งสิ้น จำนวน  48 ชั่วโมง ประกอบด้วย

  • การศึกษาอบรมภาควิชาการในประเทศ จำนวน 18 ชั่วโมง
  1. การเสริมสร้างธรรมาภิบาลใน อปท. วิทยากร :  ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ
  1. บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ วิทยากร :  ดร. วันฉัตร สุวรรณกิตติ (รองเลขาธิการ สคช.)
  1. ความหมาย ความสำคัญ และความจำเป็น ของการพัฒนานวัตกรรม และการสร้างเครือข่ายการพัฒนานวัตกรรม วิทยากร : รศ. ดร.ธนพล วีราสา
  1. รูปแบบของนวัตกรรมภาครัฐ วิทยากร : รศ. ดร.วิพุธ อ่องสกุล
  1. แนวทางการพัฒนานวัตกรรมการบริการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสู่ความเป็นเลิศ วิทยากร : นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข (รองเลขาธิการ ก.พ.ร.)

        การศึกษาดูงานภาควิชาการในต่างประเทศ จำนวน 30 ชม. เป็นการศึกษาดูงาน ณ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีกรณีศึกษาและแนวทางการปฏิบัติที่สร้างประสบการณ์ในการบริหารชุมชนโดยอาศัยเทคโนโลยีนวัตกรรมการบริหารจัดการองค์กร อาทิ การบริหารจัดการเมือง การบริหารสภาวะวิกฤต การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและประชาชน เป็นต้น

  • เปิดรับสมัคร 50 คน

ศึกษาอบรมภาควิชาการในประเทศ ระหว่างวันที่ 23  – 25 กรกฎาคม 2567

ศึกษาดูงานภาควิชาการในต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 23 – 28 สิงหาคม 2567

3.2 สถานที่ในการจัดการศึกษาอบรม :  โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น (กรุงเทพมหานคร)

  1. ระบบการศึกษาเรียนรู้

4.1   การเรียนรู้ในห้องเรียน โดยอาศัยวิธีการบรรยาย การอภิปราย กรณีศึกษา และการฝึกปฏิบัติโดยเน้นการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างวิทยากรและผู้เข้ารับการฝึกอบรม เพื่อให้เข้าใจ ถึงหลักการ แนวคิด รูปแบบ วิธีการวิเคราะห์ และแนวทางปฏิบัติ ในประเด็นหัวข้อเรื่องต่าง ๆ ตามที่กำหนด

4.2   การศึกษาดูงานต่างประเทศเพื่อต่อยอดผลจากการฝึกปฏิบัติในห้องอบรม และเสริมประสบการณ์ด้วยการลงพื้นที่เพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลในบริบทที่น่าสนใจและมีความทันสมัยเหมาะสมกับการนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้เกิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งทางด้านความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้เข้ารับการฝึกอบรม และผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ โดยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม

  1. จำนวนผู้เข้ารับการศึกษาอบรม

          ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมจำนวนประมาณ  50 คน

  1. การสมัครเข้าศึกษาอบรมในหลักสูตรฯ

6.1  คุณสมบัติผู้เข้ารับการศึกษาอบรม คือ ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ข้าราชการส่วนกลาง ข้าราชการส่วนภูมิภาค รัฐวิสาหกิจ และผู้ที่สนใจทั่วไป

6.2  ระยะเวลาการรับสมัคร ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2567 (หรือมีจำนวนครบ 50 คน) ประกาศรายชื่อผู้เข้ารับการศึกษาอบรม  ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ผ่านทาง www.igpthai.org

6.3 ค่าธรรมเนียม 149,000.- (หนึ่งแสนสี่หมื่นเก้าพันบาทถ้วน) รวมค่าเอกสาร กระเป๋า เสื้อแจ๊กเก็ต ค่าอาหารว่าง (เช้า-บ่าย) อาหารกลางวัน ระหว่างวันที่ 23  – 25 กรกฎาคม 2567 ทั้งนี้ ไม่นับรวมค่าใช้จ่าย ในการเดินทางมายังสถานที่อบรม (ไม่รวมที่พักในประเทศ ไม่รวมอาหารเย็น) และรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ ในระหว่างการศึกษาอบรมภาควิชาการในต่างประเทศที่หลักสูตรเป็นผู้กำหนด (เดินทางโดยสารการบินไทย  ชั้นประหยัดและการพักโรงแรมในต่างประเทศจะเป็นห้องพักคู่ 2 ท่าน/ห้อง/คืน) อัตราดังกล่าวได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย (สามารถชำระค่าธรรมเนียม ได้ตั้งแต่วันที่เปิดรับสมัคร จนถึงภายในวันที่ 23 กรกฎาคม 2567)

6.4 ผู้สนใจเข้าร่วมหลักสูตร กรอกรายละเอียดในใบสมัคร โดยดาวน์โหลดทาง www.igpthai.org พร้อมแนบสำเนาบัตรข้าราชการ และรูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว หน้าตรง (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน) ส่งได้ทาง e-mail : newpubliccourse@www.igpthai.org

  1. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

7.1 ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมเป็นบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถบริหารงาน โดยนำองค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมมาพัฒนางานบริการขององค์กร ไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เป็นการสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล

7.2  ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ สามารถนำการเปลี่ยนแปลงในการบริหารจัดการองค์กรให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน สอดรับกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ยุทธศาสตร์ชาติและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อขับเคลื่อนองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ตามหลักธรรมาภิบาลอันเป็นการพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนได้อย่างแท้จริง

  1.  สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่

สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร.

ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เลขที่ 120 อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 9

ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210

หมายเลขโทรศัพท์  02-141-9021 หรือ 08 4241 5996

(คุณปาริชาติ คมขำ หรือ คุณศศิวิมล คงขุนทด)

ดาวน์โหลดใบสมัคร คลิก >>  docx / PDF  <<

และส่งใบสมัครพร้อมเอกสารการชำระเงิน มาที่ E-mail : newpubliccourse@www.igpthai.org

หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อคุณปาริชาติ คมขำ หรือ คุณศศิวิมล คงขุนทด

หมายเลขโทรศัพท์  02-141-9021 หรือ 08 4241 5996

ดาวน์โหลดหนังสือเชิญเข้าร่วมการศึกษาอบรม คลิก >>  (ดาวน์โหลดหนังสือเชิญ PDF)

ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมการศึกษาอบรม คลิก >>  (ประกาศรายชื่อ PDF)

โครงการศึกษาอบรมหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อพัฒนาองค์การและสังคมอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 3/2567

  • รายละเอียดหลักสูตร pdf
  • ใบสมัคร docx | pdf