ยิ่งส่งผลทำให้ความจำเป็นที่นักบริหารจะต้องเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองให้ก้าวทันโลกและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาและก้าวขึ้นสู่การเป็นนักบริหารที่มีธรรมาภิบาลเพิ่มจากเดิมรุ่นที่ 1 – 6 ขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 5 – 6 เท่า
การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีคำสำคัญอยู่ 2 คำ กล่าวคือ
1. การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
2. การพัฒนาอย่างยั่งยืน
การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) หมายถึง การดำเนินการเพื่อปรับปรุงหรือ
เปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ในทางที่ดีขึ้น แต่ในโลกยุคใหม่จะพัฒนาให้ดีขึ้นเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ การพัฒนาจะต้องคำนึงถึงการดำเนินการเพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้วย นั่นหมายความว่า การพัฒนาเรื่องต่าง ๆ ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ด้วย ทั้งนี้ เมื่อได้พัฒนาหรือปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นแล้ว ผลที่เกิดขึ้นจะต้องไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนและชุมชนรอบข้างด้วย
ส่วนการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Good Governance ได้รับการกล่าวถึงเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1989 ในรายงานของธนาคารโลก (World Bank) เรื่อง Sub-Sahara Africa from Crisis to Sustainable Growth ซึ่งต่อมากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์เกี่ยวกับการให้ประเทศต่าง ๆ กู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งพบว่า Good Governance เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับประเทศไทย Good Governance ได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัน และใช้มากในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน และโดยเหตุที่นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นผู้ที่มีภูมิหลังมาจากนักการทูต จึงนิยมใช้ทับศัพท์เป็นภาษาอังกฤษ และรัฐบาลต่อๆ มาก็ยังคงใช้ทับศัพท์ว่า Good Governance เรื่อยมาในอีกหลายรัฐบาล จนถึงรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ซึ่งไม่นิยมการใช้ทับศัพท์เป็นภาษาอังกฤษ จึงมอบหมายให้องค์กรที่เกี่ยวข้อง คือ คณะกรรมการบัญญัติศัพท์ และราชบัณฑิต ทำการศึกษาเพื่อบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทย ซึ่งทั้งสององค์กรได้ศึกษาแล้วเสนอให้ใช้คำว่า สุประศาสนการ และการปกครองที่ดี ตามลำดับ ซึ่งนายกฯ ไม่เห็นชอบด้วย ในที่สุดในการประชุม ก.พ. ที่มีนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย เป็นประธานได้มีมติเห็นชอบตามที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ปลัดกระทรวงการคลังเสนอให้ใช้คำว่า ธรรมาภิบาล
หลักธรรมาภิบาลประกอบด้วยหลักการสำคัญ 6 ประการคือ
1.หลักนิติธรรม กรอบตัวบทกฎหมายต้องมีความเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ
2.หลักคุณธรรม มีจิตสำนึก ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีศีลธรรม คุณธรรมและตรงตามความคาดหวังของประชาชน
3.หลักความโปร่งใส ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา
4.หลักความรับผิดรับชอบ ในการปฏิบัติหน้าที่ต้องสามารถตอบคำถามและชี้แจงข้อสงสัยได้
5.หลักการมีส่วนร่วม ในการปฏิบัติหน้าที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรู้ รับทราบ เสนอปัญหาและประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องร่วมคิดแก้ปัญหา
6.หลักความคุ้มค่า ปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เกิดประโยชน์สูงสุด
ภายหลังเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 จึงได้มีการบัญญัติให้ส่วนราชการต้องปฏิบัติราชการโดยใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี มีผลให้ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการต้องใช้คำว่า การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี แทนคำว่า ธรรมาภิบาล อย่างเป็นทางการตามกฎหมายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก.พ.ร.1/7